Tuesday, October 18, 2011
ไหว้พระธาตุประ จํา วัน เกิด
พระธาตุดอยตุง
อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
บนยอดดอยที่มีอากาศเย็นสบายตลอดปี องค์พระธาตุดอยตุงเป็นที่เคารพบูชาของชาวล้านนามาเนิ่นนาน ตามตำนานเล่าว่าพระเจ้าอชุตราช ผู้ครองนครโยนกนาคพันธ์เมื่อกว่าพันปีก่อนเป็นผู้สร้างขึ้น ก่อนการสร้างพระองค์ให้ทำตุงยาว 1,000 วาปักบนยอดเขา หากตุงปลิวสะบัดไปถึงที่ใดก็ให้หมายเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ ดอยลูกนี้จึงมีชื่อว่า “ดอยตุง” มาถึงทุกวันนี้
พระธาตุดอยตุงประกอบด้วยพระเจดีย์สององค์ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนกระดูกไหปลาร้าของพระพุทธเจ้า ใกล้องค์พระธาตุมีรอยแยกบนพื้นซึ่งเชื่อว่าคือที่ใช้ปักตุงตามตำนาน พระธาตุดอยตุงถือเป็นพระธาตุประจำปีกุนหรือปีหมู คนเกิดปีกุนจึงควรหาโอกาสมากราบสักการะ โดยทุกๆ ปีจะมีงานนมัสการพระธาตุในวันเพ็ญเดือน 3 (ราวเดือนกุมภาพันธ์)
พระธาตุดอยสุเทพ
อ.เมือง จ.เชียงใหม่
เดินตามบันไดนาค 185 ขั้นขึ้นไปตามทางลาดชันพร้อมกับสำรวมจิตตั้งใจมั่น ในไม่ช้าองค์พระธาตุสีเหลืองทองอร่ามก็ปรากฏแก่สายตาให้เราก้มกราบสักการะด้วยความปีติ
ดอยสุเทพคือดอยศักดิ์สิทธิ์ของชาวเชียงใหม่ มีพระธาตุดอยสุเทพเป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธา สร้างขึ้นในสมัยพญากือนาแห่งราชวงศ์มังรายเมื่อราว 600 ปีก่อน ในครั้งนั้นพระองค์ได้อาราธนาพระสุมนเถระจากสุโขทัยมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเชียงใหม่ พระสุมนเถระได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาสององค์ พญากือนาจึงโปรดให้สร้างเจดีย์บรรจุพระธาตุขึ้นที่วัดสวนดอกและวัดพระธาตุดอยสุเทพนี้
พระธาตุดอยสุเทพเป็นพระธาตุประจำปีมะแมหรือปีแพะ ในอดีตผู้มาแสวงบุญต้องเดินจากเชิงดอยผ่านป่ารกทึบเพื่อขึ้นสู่ยอดดอย ซึ่งถือเป็นการบำเพ็ญเพียรในหนทางแห่งการบรรลุธรรม ต่อมาในปี พ.ศ.2478 ครูบาศรีวิชัยได้ร่วมแรงร่วมใจชาวล้านนาสร้างถนนขึ้นจนถึงบริเวณวัด
เมื่อไหว้พระธาตุแล้วอย่าลืมชมทิวทัศน์ตัวเมืองเชียงใหม่ที่สวยงาม ถ้ามีเวลาควรเดินทางขึ้นดอยต่อเพื่อไปชมดอกไม้เมืองหนาว โดยเฉพาะกุหลาบงามหลายร้อยพันธุ์จากทั่วโลกที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์
พระธาตุศรีจอมทอง
อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
ความพิเศษของพระธาตุแห่งนี้คือเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่มิได้ฝังใต้ดินภายในองค์เจดีย์เหมือนพระธาตุแห่งอื่น แต่ประดิษฐานในพระโกศห้าชั้นภายในมณฑปทรงปราสาท อยู่ในวิหารของวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร
พระบรมสารีริกธาตุนี้เป็นส่วนพระเศียรเบื้องขวา ตามตำนานเล่าว่านางเม็งและนายสอยได้พบพระบรมธาตุที่บริเวณดอยจอมทองนี้เมื่อปี พ.ศ.1995 ต่อมาสมัยพระเมืองแก้ว กษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย ซึ่งถือเป็นยุคทองของพุทธศาสนาในล้านนา พระองค์จึงได้สร้างวิหารเพื่อประดิษฐานพระบรมธาตุขึ้น
พระธาตุศรีจอมทองเป็นพระธาตุประจำปีชวดในอดีตเคยมีประเพณีอัญเชิญพระธาตุศรีจอมทองไปเมืองเชียงใหม่เพื่อให้ชาวเมืองเชียงใหม่ได้สรงน้ำบูชาทุกปี ปัจจุบันทุกปีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 และวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 มีพิธีแห่พระบรมธาตุออกจากวิหารไปที่โบสถ์ให้ชาวบ้านได้สรงน้ำ
พระธาตุพนม
อ.ธาตุพนม จ.นครพนม
ณ ชายฝั่งริมโขง บนแผ่นดินอีสาน คือที่ประดิษฐานแห่งพระธาตุพนม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยและชาวลาวที่อาศัยอยู่สองฝั่งลำน้ำ องค์พระธาตุมีเอกลักษณ์โดดเด่นด้วยรูปทรงคล้ายกลีบดอกบัวตูม บนองค์พระธาตุประดับลายดอกไม้และพรรณพฤกษาแลดูอ่อนช้อย ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนกระดูกหน้าอกของพระพุทธเจ้า
ตามตำนานเล่าว่ากษัตริย์ห้าองค์ได้ร่วมกันสร้างพระธาตุพนมขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.8 โดยเป็นพระธาตุขนาดเล็กสูงเพียง 2 วา ต่อมาภายหลังจึงได้รับการบูรณะต่อเติมให้สูงใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตลอดระยะเวลากว่าพันปีมีการบูรณะรวมแล้วถึงหกครั้งกระทั่งในปี พ.ศ.2518 ได้เกิดเหตุพระธาตุพนมพังทลายลง จึงต้องมีการบูรณะพระธาตุขึ้นใหม่จนเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2522 มีความสูงถึง 43 เมตร
พระธาตุพนมเป็นพระธาตุประจำปีวอกหรือปีลิง และเป็นพระธาตุประจำวันเกิดของคนเกิดวันอาทิตย์ทุกปีจะมีงานนมัสการพระธาตุพนมในวันขึ้น 10 ค่ำถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3(ประมาณเดือนกุมภาพันธ์)
พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช
อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
พระบรมธาตุเจดีย์เป็นองค์พระธาตุทรงลังกาหรือระฆังคว่ำที่มีขนาดสูงใหญ่มาก โดยสูงถึงกว่า 70 เมตร ส่วนปลียอดหุ้มทองคำหนักกว่า 200 กิโลกรัม ประดิษฐานเป็นศูนย์รวมจิตใจและศรัทธาของชาวใต้มานานนับพันปี
ตามตำนานว่าพระบรมธาตุเจดีย์สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช(พระเจ้าจันทรภานุ) แห่งแคว้นตามพรลิงค์ที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ ณดินแดนนี้เมื่อกว่า 700 ปีก่อน ภายในพระบรมธาตุเจดีย์บรรจุพระทันตธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีตำนานเล่าขานมากมาย ก่อให้เกิดความเคารพศรัทธาอย่างสูง จนมีผู้นำสิ่งของมีค่ามาถวายเป็นเครื่องสักการะนับหมื่นชิ้น ทั้งต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง เงิน พระพุทธรูปทองคำ แหวน กำไล ฯลฯ
ในวันมาฆบูชาและวันวิสาขบูชาจะมีประเพณีที่สืบทอดมายาวนาน คือประเพณีแห่ผ้าขึ้นพระธาตุ ที่ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศจะพากันมาร่วมงานบุญอันยิ่งใหญ่
ภายในบริเวณวัดนอกจากองค์พระบรมธาตุแล้วยังมีวิหารที่น่าสนใจชม เช่น วิหารเขียนวิหารพระม้า ฯลฯ
พระธาตุแช่แห้ง
อ.ภูเพียง จ.น่าน
แม้ดอยภูเพียงแช่แห้งจะเป็นเพียงดอยเล็กๆ นอกตัวเมืองน่าน แต่มีตำนานว่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาถึง และเกิดปาฎิหาริย์ เมื่อพระอมละราชได้ถวายผ้าขาวให้พระพุทธเจ้าใช้สรงน้ำ แต่ผ้านั้นได้กลายเป็นทองคำ
ต่อมาในสมัยพระยากานเมืองจึงมีการสร้างพระเจดีย์ขึ้นบนดอยแห่งนี้ เนื่องจากพระองค์ได้รับมอบพระบรมธาตุเจ็ดพระองค์ และพระพิมพ์คำ พระพิมพ์เงิน มาจากพระยาลือไทแห่งกรุงสุโขทัย จึงได้ก่อเจดีย์พระธาตุแช่แห้งขึ้น พระธาตุแช่แห้งได้รับการบูรณะมาอีกหลายครั้งจึงมีความงดงามดังที่เห็นในปัจจุบัน โดยมีรูปลักษณะคล้ายพระธาตุหริภุญชัยที่ จ.ลำพูน
พระธาตุแช่แห้งเป็นพระธาตุประจำปีเถาะหรือปีกระต่าย ทุกปีในวันขึ้น 11-15 ค่ำ เดือน 6 เหนือ(เดือน 4 ภาคกลางหรือประมาณเดือนมีนาคม) จะมีประเพณีหกเป็ง ไหว้พระธาตุแช่แห้ง โดยชาวบ้านจะจัดขบวนแห่เครื่องสักการะที่ประดิษฐ์จากกาบกล้วย มีการสรงน้ำและเวียนเทียนรอบองค์พระธาตุและการแข่งบั้งไฟดอก
พระธาตุลำปางหลวง
อ.เกาะคา จ.ลำปาง
วัดพระธาตุลำปางหลวงตั้งอยู่บนเนินขนาดย่อม ด้านหน้ามีบันไดนาคนำขึ้นสู่ในลานวัดที่มีวิหารหลวงตั้งอยู่ ในวิหารประดิษฐานพระเจ้าล้านทองในกู่ปราสาทสีทองมลังเมลือง ด้านหลังวิหารคือองค์พระธาตุลำปางหลวง เป็นเจดีย์ทรงกลมบุด้วยแผ่นทองแดงปิดทองที่เรียกว่า ทองจังโก มีความงดงามอย่างสูงตามแบบสถาปัตยกรรมล้านนาด้วยฝีมือช่างชั้นครู ถือเป็นพระธาตุประจำปีฉลูหรือปีวัว
ตามตำนานว่าบริเวณวัดแห่งนี้เคยเป็นศูนย์กลางของเวียงโบราณชื่อลัมภกัปปนคร เป็นที่ประดิษฐานพระธาตุ ซึ่งภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนหน้าผากและลำคอ เชื่อว่าเป็นเวียงทางศาสนาโดยเฉพาะ ต่อมาภายหลังจึงมีบันทึกว่าเจ้าหมื่นคำเป๊ก ผู้ครองเมืองลำปางได้บูรณะพระธาตุลำปางหลวงและสร้างวิหารขึ้นในปี พ.ศ.2019
ภายในวัดพระธาตุลำปางหลวงมีสิ่งน่าชมมากมาย เช่น วิหารน้ำแต้มที่ภายในภาพจิตรกรรมเก่าแก่ ส่วนปรากฏการณ์ “ภาพเงาพระธาตุ” มีให้ชมที่หอพระพุทธบาท (ให้ขึ้นชมได้เฉพาะผู้ชาย) และที่วิหารพระพุทธ สำหรับพระแก้วดอนเต้า พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองลำปาง ประดิษฐานอยู่ในหอพระแก้ว
พระธาตุหริภุญชัย
อ.เมือง จ.ลำพูน
ตามตำนานว่าพระธาตุหริภุญชัยสร้างขึ้นโดยพญาอาทิตยราชผู้ครองเมืองหริภุญชัยเมื่อราว พ.ศ.1420 โดยพระองค์อุทิศพระราชวังของพระองค์เพื่อสร้างวัดและพระธาตุเจดีย์ขึ้นเป็นพุทธบูชา เนื่องด้วยมีการดำมาขวางขณะที่พระองค์จะเสด็จลงห้องพระบังคน ภายหลังจึงทรงทราบว่าได้พระราชวังนั้นมีพระบรมสารีริกธาตุ นับแต่นั้นพระธาตุหริภุญชัยก็ได้รับการบูรณะมาหลายครั้ง และเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาในแผ่นดินล้านนามาถึงปัจจุบัน
พระธาตุหริภุญชัยเป็นพระธาตุประจำปีระกาหรือปีไก่ ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงล้านนาหุ้มแผ่นทองสีเหลืองอร่ามทั้งองค์ ก่อนเข้าเขตวัดจะต้องผ่านซุ้มประตูโขงที่ประดับลายปูนปั้นงดงามมาก หน้าองค์พระธาตุคือวิหารหลวง เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วขาวซึ่งจำลองมาจากวัดเชียงมั่น นับถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาก
โดยรอบองค์พระธาตุมีหลายสิ่งน่าชม เช่น หอไตรสองชั้นแบบศิลปะล้านนาที่หาชมได้ยาก วิหารพระกลักเกลือซึ่งควรเข้าไปกราบสักการะ
ทุกปีในวันเพ็ญเดือน 6 มีงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัยซึ่งชาวบ้านจะมาร่วมงานกันอย่างเนืองแน่น
พระธาตุศรีสองรัก
อ.ด่านซ้าย จ.เลย
ย้อนเวลาไปเมื่อราว 450 ปีก่อน ณ เนินเขาริมลำน้ำหมัน รอยต่อเขตแดนแห่งอาณาจักอยุธยาและอาณาจักรล้านช้าง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิและสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชทรงกระทำสัตยาธิษฐานว่าจะไม่ล่วงล้ำดินแดนกันและกัน พร้อมกับสร้างพระธาตุเจดีย์ศรีสองรักขึ้นเป็นสักขี
พระธาตุศรีสองรักเป็นพระเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงบัวเหลี่ยม ภายในองค์พระธาตุเชื่อว่ากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ได้บรรจุสิ่งชองศักดิ์สิทธิ์ไว้เช่น พระพุทธรูป พระธรรมคัมภีร์ ในวันเพ็ญเดือน 6 หรือวันวิสาขชูชา จะมีงานนมัสการพระธาตุ 3 วัน 3 คืน ชาวบ้านจะมีสิ่งสักการบูชาองค์พระธาตุอันเป็นเอกลักษณ์คือ “ต้นผึ้ง” และถือคติห้าวสวมใส่เสื้อผ้าสีแดงเข้าในเขตงาน หรือนำดอกไม้สีแดงมาบูชา
อ.ด่านซ้ายยังมีงานประเพณีที่โด่งดังไปทั่วประเทศในราวเดือนมิถุนายนของทุกปี คือ ประเพณีแห่ผีตาโขน ซึ่งจัดขึ้นในงานบุญหลวงที่ประกอบด้วยงานบุญพระเวส งานบุญบังไฟและงานแห่ผีตาโขน
พระบรมธาตุไชยา
อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี
พระบรมธาตุไชยาเป็นพระธาตุทรงสี่เหลี่ยมจัตุรมุขซ้อนชั้นลดหลั่นกัน และมีสถูปเจดีย์ขนาดเล็กประดับตามมุมแลดูสลับซับซ้อน ประดิษฐานเป็นฯนย์กลางแห่งความศรัทธามาตั้งแต่สมัยศรีวิชัยนับเนื่องจนถึงปัจจุบันได้กว่า 1,000 ปี ที่น่าอัศจรรย์คืออิฐที่ก่อเรียงซ้อนกันเป็นองค์พระธาตุนั้นยังคงทนอยู่ตามสภาพดั้งเดิมโดยมิได้ผ่านการบูรณะหรือเปลี่ยนแปลง จะมีก็เพียงการฉาบปูนบางๆ รอบองค์และการเสริมยอดฉัตรที่หายไปเท่านั้นเอง
ตามประวัติเล่าว่าพระบรมธาตุไชยาสร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ.1200-1500 ในยุคที่อาณาจักรศรีวิชัยรุ่งเรืองเป็นฯนย์กลางแห่งการค้า การปกครอง และพุทธศาสนานิกายมหายานในดินแดนทางใต้ไปถึงเกาะขวา
รอบองค์พระธาตุเป็นระเบียงคดประดิษฐานพระพุทธรูปรวม 180 องค์ ด้านหน้าองค์พระธาตุเป็นวิหารหลวงสร้างยื่นล้ำเข้าไปในวิหารคด เพื่อเป็นที่นมัสการพระบรมธาตุ
หากต้องการชมโบราณวัตถุหลักฐานอันรุ่งเรืองของอาณาจักรศรีวิชัยให้ไปที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา ซึ่งอยู่ใกล้ๆกับวัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร